ให้บริการเกี่ยวกับความสมดุลของฮอร์โมน และระบบเผาผลาญของร่างกาย ตั้งแต่การป้องกันความผิดปกติของฮอร์โมน การส่งตรวจวินิจฉัย การรักษาและการปรับสมดุลของฮอร์โมน โดยแพทย์เฉพาะทางด้านฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อและแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์หลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางการส่งตรวจเพิ่มเติมที่ทันสมัย ได้มาตรฐานและแนวทางการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อฮอร์โมนที่สมดุลอย่างยั่งยืน

 

เวลาทำการ อังคาร ศุกร์ เสาร์ เวลา 08.00-16.00 น.

 

การให้บริการของศูนย์ฮอร์โมนสมดุลโรงพยาบาลนวเวชประกอบด้วย 

1. การปรับสมดุลฮอร์โมนในหญิงวัยทอง วัยก่อนหรือใกล้หมดประจำเดือนและการใช้ฮอร์โมนเพื่อการทดแทน

2. การปรับสมดุลในชายพร่องฮอร์โมนเพศชายและการใช้ฮอร์โมนเพื่อการทดแทน

3. การใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ

4. การใช้ฮอร์โมนเพื่อประสิทธิภาพทางการออกกำลังกาย

 

โดยรายละเอียดการให้บริการมีดังนี้

 

1. การปรับสมดุลฮอร์โมนในหญิงวัยทอง วัยก่อนหรือใกล้หมดประจำเดือนและการใช้ฮอร์โมนเพื่อการทดแทน เมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่อายุ 45-55 ปี จะเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง เนื่องจากรังไข่ลดการทำงานลง ส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นอย่างมาก ในบางรายอาจมีอาการมาก่อนที่ประจำเดือนจะผิดปกติได้ จึงต้องอาศัยแนวทางการดูแลอย่างเข้าใจและตรงจุด ประกอบไปด้วย

  • การซักประวัติโดยรวม โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน ช่องคลอดแห้ง อารมณ์แปรปรวน ภาวะหลับยาก เป็นต้น รวมถึงตรวจร่างกายอย่างละเอียด
  • การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันความผิดปกติของฮอร์โมน ได้แก่ การตรวจระดับฮอร์โมน เป็นต้น
  • หาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ เช่น ตรวจมวลกระดูก ตรวจหาความเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
  • การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มใช้ฮอร์โมนเพื่อการทดแทน เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม เป็นต้น
  • แนวทางการรักษาอื่นโดยไม่ใช้ฮอร์โมนทดแทน

 

2. การปรับสมดุลในชายพร่องฮอร์โมนเพศชายและการใช้ฮอร์โมนเพื่อการทดแทน ในเพศชายจะเริ่มมีความผิดปกติของฮอร์โมนเพศชายแตกต่างกัน โดยรวมคือจะมีอาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นจากการลดลงของฮอร์โมนเพศชายที่ลดลงไปตามอายุ โดยเฉลี่ยจะเริ่มมีการลดลงของฮอร์โมนเพศชายเมื่ออายุ 40-45 ปีเป็นต้นไป โดยอาการมีความหลากหลายและอาจไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับหญิงวัยทอง จึงต้องอาศัยแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาที่ตรงจุด ประกอบไปด้วย

  • การซักประวัติโดยรวม โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้อง เช่น เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ปวดเมื่อย ไม่กระฉับกระเฉง เครียด หงุดหงิดง่าย เป็นต้น รวมถึงตรวจร่างกายอย่างละเอียด
  • การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันความผิดปกติของฮอร์โมน ได้แก่ การตรวจระดับฮอร์โมน เป็นต้น
  • หาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ เช่น ตรวจหาความเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
  • การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มใช้ฮอร์โมนเพื่อการทดแทน เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจคัดกรองหาภาวะนอนกรน ตรวจไขมันในเลือด เป็นต้น
  • แนวทางการรักษาอื่นโดยไม่ใช้ฮอร์โมนทดแทน

 

3. การใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ ในบุคคลที่มีภาวะสภาพเพศหลากหลาย โดยเฉพาะในหญิงและชายข้ามเพศ การใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ ถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการปรับเปลี่ยนลักษณะร่างกายให้ตรงกับเพศสภาพที่ต้องการ แต่การใช้ฮอร์โมนนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ต้องมีการเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยการให้บริการ ประกอบไปด้วย

  • การวินิจฉัยภาวะ Gender dysphoria จากจิตแพทย์ หากยังไม่เคยเข้าพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยมาก่อน
  • การให้ข้อมูลผลลัพธ์ แนวทางการปฏิบัติตัว ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น จากการใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ
  • การประเมินความเสี่ยงก่อนการใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ เช่น การซักประวัติเรื่องหลอดเลือดดำอุดตันในหญิงข้ามเพศ การสูบบุหรี่ ในชายข้ามเพศ เป็นต้น
  • การเตรียมความพร้อมก่อนการเริ่มฮอร์โมนเพศซึ่งแนวทางมีความแตกต่างกันระหว่างหญิงและชายข้ามเพศ เช่น การเจาะดูระดับเม็ดเลือดแดง ค่าไขมัน ค่าฮอร์โมนเพศ ในชายข้ามเพศ หรือการเจาะวัดดูค่าตับ ค่าไขมัน ในหญิงข้ามเพศ เป็นต้น
  • แนวทางการให้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ
  • การตรวจติดตามหลังการให้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ การเฝ้าระวังผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด
  • การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและตรวจมวลกระดูกเมื่อมีข้อบ่งชี้ในหญิงข้ามเพศ

 

4. การใช้ฮอร์โมนเพื่อประสิทธิภาพทางการออกกำลังกาย ในปัจจุบันมีการใช้ฮอร์โมนและสารเร่งเพื่อกระตุ้นการเจริญของกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้นอย่างแพร่หลายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย โดยส่วนมากมักจะเป็นการใช้ฮอร์โมนด้วยตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบและอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยการบริการ ประกอบด้วย

  • ให้คำปรึกษากับผู้ที่ต้องการใช้ฮอร์โมนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กำลังเริ่มต้นใช้หรือผู้ที่เคยใช้ฮอร์โมนดังกล่าวมาแล้ว ถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบกับร่างกายที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น
  • หาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมน เช่น ปัจจัยเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงด้านมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นต้น
  • แนวทางการใช้ฮอร์โมนเพื่อประสิทธิภาพทางการออกกำลังกายอย่างปลอดภัย เช่น ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน โกรทฮอร์โมน เป็นต้น
  • การติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเพื่อการออกกำลังกายอย่างใกล้ชิด

 

 

ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

พญ.จารุวรรณ สังข์มาลา
อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม
ข้อมูลแพทย์
นพ.ณัฐชดล กิตติวรารัตน์
อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยาและเคมีบำบัด
ข้อมูลแพทย์
นพ.กิตติภูมิฐ์ กวินโชติไพศาล
เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
ข้อมูลแพทย์